OCDP 5

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 รัฐบาลไทยและเมียนมาได้ร่วมมือกันส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลุ่มที่ 2 จำนวน 93 คน กลับประเทศ โดยแบ่งเป็นผู้หนีภัยฯ จากพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยฯบ้านใหม่ในสอย 20 คน ผ่านจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยฯ บ้านแม่หละ บ้านอุ้มเปี้ยม บ้านนุโพ จังหวัดตาก และจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยฯ บ้านต้นยาง จังหวัดกาญจนบุรี รวม 73 คน ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา (แม่สอด – เมียวดี) จังหวัดตาก โดยมีหน่วยงานราชการไทยทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่สนับสนุนการดำเนินการเป็นอย่างดี ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)ในการเตรียมความพร้อมแก่ผู้หนีภัยฯ และการจัดยานพาหนะ โดยมี นายชยชัย แสงอินทร์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ในฐานะรองหัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยในการสังเกตการณ์การดำเนินการฯ ในทั้ง 2 ช่องทางร่วมกับคณะผู้แทนหน่วยงานส่วนกลางต่างๆ รวมทั้งมอบหมายให้ ร้อยตรีสรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้่สำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ เป็นผู้ประสานงาน ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และนายทรงกลด ขาวแจ้ง นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ ณ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

OCDP
OCDP 1

OCDP 2

 การส่งกลับครั้งนี้เป็นผลสำเร็จของความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทั้งสองประเทศ หลังจากที่ได้ส่งผู้หนีภัยฯ กลุ่มที่ 1 จำนวน 71 คนกลับเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานร่วมไทย – เมียนมา ในการเตรียมการส่งผู้หนีภัยฯ กลับประเทศ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ซึ่งสองฝ่ายได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับอย่างเป็นระบบและยั่งยืนOCDP 3

OCDP 4

 

อนึ่ง ไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยฯ มาตั้งแต่ปี 2527 ปัจจุบันมีผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยฯ 9 แห่ง ใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ราว 100,000 คน พัฒนาการและกระบวนการสันติภาพในเมียนมาได้ทำให้มีผู้หนีภัยฯ เริ่มแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับโดยสมัครใจ ไทยและเมียนมาจึงได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของผู้หนีภัยฯ บนพื้นฐานของความสมัครใจ ความปลอดภัย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเพื่อให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยจะหารือกันต่อไปในกรอบการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายเมียนมารับที่จะเป็นเจ้าภาพในห้วงครึ่งหลังของปี 2561