18011665339693.jpg

วันที่ 20 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 - 12.00 น. ร.ต. สรมงคล มงคละสิริ ผอ.ตท.สป. มอบหมายให้ นายณัฐพล อุดมเมฆ นวท.ปก. และนายกฤตยชญ์ เมฆช้าง พนักงานประจำสำนักงาน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ สำหรับโครงการ "การเสริมสร้างเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทย" (Strengthening SDG Localization in Thailand) ณ ห้องประชุมแปซิกฟิก ชั้น 4 ตึกสำนักงานบริการสหประชาชาติ โดยมี Mr.Renaud Meyer ผู้แทน UNDP และ Mr.Daniel Hachez ที่ปรึกษารัฐมนตรี - หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมพร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุปในการประชุมโครงการ
"การเสริมสร้างเพื่อขยับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทย" ซึ่งมีหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ได้แก่ กต. สศช. และ สถ.

ในที่ประชุมตามข้างต้นได้มีประเด็นสารัตถะ ดังนี้

วาระเพื่อทราบ: ชี้แจงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วย
   1) ให้คำปรึกษาในการตัดสินใจที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการการแก้ปัญหาและประเมินความเสี่ยงของโครงการฯ 
   2) ให้คำแนะนำและแนวทางในการดำเนินงาน
   3) เห็นชอบการปรับแก้โครงการที่มีนัยสำคัญและแผนการปฏิบัติงาน
   4) เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

วาระเพื่อพิจารณา: การแต่งตั้งคณะกรรมการ สำหรับโครงการฯ โดยผู้จัดการโครงการเสนอให้เพิ่ม องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้ามาในคณะกรรมการด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน

ทั้งนี้ ผู้แทน สศช. และผู้แทน กต. ขอสงวนสิทธิ์การเข้าเป็นคณะกรรมการของโครงการฯ เนื่องด้วยมีข้อห่วงกังวลว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการนั้น มีขั้นตอนการพิจารณาเป็นลำดับขั้นตอน และให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยในชั้นนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานมีความประสงค์เป็นผู้สังเกตการณ์สำหรับคณะกรรมการ สำหรับโครงการฯ และยินดีสนับสนุนในเชิงวิชาการ

ในการนี้ ผู้แทน มท. ให้ความเห็นต่อที่ประชุมฯ ดังนี้

   1) กรณีการพิจารณาให้ทุนสำหรับดำเนินโครงการ เห็นควรเพิ่มเติมการให้ทุนในการดำเนินการแก่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการขอทุนสำหรับการดำเนินการ

   2) มท. ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ในการขับเคลื่อน SDGs ให้บุคคลในจังหวัดและท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก โดยขอให้โครงการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานสร้างการตระหนักรู้ในพื้นที่ ได้แก่ การจัดทำนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs การมีส่วนร่วมในการประชุมชี้แจงการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ของจังหวัดในระดับต่าง ๆ การบูรณาการการดำเนินการร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่จังหวัดและท้องถิ่นมากเกินไป รวมทั้งการสนับสนุนวิทยากรในการให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs

   3) ในส่วนประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการ สำหรับโครงการฯ ผู้แทนมท. เห็นพ้องตามข้อห่วงกังวลของ กต. และ สศช. โดยขอให้โครงการมีการดำเนินการไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของ กพย. ทั้งนี้ขอให้ UNDP ประสาน สศช. ในฐานะฝ่ายเลขาของ กพย. เพื่อประชุมหารือ หาแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในเชิงพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะทำให้เกิดหุ้นส่วนภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกัน และเป็นไปตามเป้าหมายหลักข้อที่ 17 ของ SDGs ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ ปมท. ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญมาโดยตลอด

พร้อมนี้ ผู้แทน มท. ได้ชี้แจงข้อซักซ้อมของ ผอ.ตท.สป. เมื่อคราวการประชุมชี้แจงผู้ประสานงานโครงการฯ ของจังหวัดนำร่อง ต่อที่ประชุมฯ ใน 10 ประเด็น ดังนี้

   1) ขอให้สำนักงานจังหวัดออกแบบว่าจะให้ UNDP มาช่วยจังหวัดในประเด็นใดบ้าง
   2) ข้อคำถามในส่วนของการสำรวจเก็บข้อมูลความคิดเห็นของประชาชาน (Survey Process) ที่จะเก็บข้อมูล ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย ก่อนลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ เนื่องด้วย มีความเกี่ยวเนื่องกับประเด็นด้านความมั่นคง
   3) ข้อคำถามต้องไม่เป็นภาระของประชาชน เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล คำถามที่อ่อนไหว เป็นต้น และ UNDP จะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของประชาชนในด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี และข้จำกัดด้านเวลา
   4) ประเด็นประชากร / กลุ่มตัวอย่าง / วิธีการสุ่ม จะต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยให้มีความชัดเจน
ว่ามีการกระจายตัวอย่างไร จะใช้เกณฑ์ไหนเป็นเกณฑ์ (เช่น รายได้ภาษี ขนาดประชากร เกณฑ์การแบ่งเขตความเป็นเมือง เป็นต้น)
   5) ในประเด็น VLR ขอให้จังหวัดยังไม่ต้องดำเนินการ จนกว่าจะได้รับความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยส่วนกลาง
   6) UNDP ควรมีกระบวนสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็น SDGs ให้แก่จังหวัดในการประชุมหารือต่าง ๆ เช่น สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อเป็นสื่อในการจัดนิทรรศการที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs ในศาลากลางจังหวัด ในการประชุมกรมการจังหวัด เพื่อให้จังหวัดใช้ประโยชน์ในโอกาสต่าง ๆเป็นต้น
   7) UNDP สามารถประสานงานการขอข้อมูลจากกลุ่มยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด
และสำนักงานสถิติจังหวัด
   8) UNDP ควรเข้าร่วมในการจัดประชาคมของสำนักงานจังหวัดเพื่อเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ตามห้วงระยะเวลา เพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนการแบบบูรณาการร่วมกันได้
   9) ไม่ให้ UNDP เป็นอุปสรรคในการทำงานของสำนักงานจังหวัด ควรให้ UNDP เป็นมือเป็นไม้ร่วมกันพัฒนาจังหวัด
   10) หากจังหวัดไม่มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติ กระทรวงมหาดไทยส่วนกลางยินดีให้คำปรึกษาในการดำเนินการของจังหวัดทุกกระบวนการ และยินดีสนับสนุนวิทยากรในการสร้าง การตระหนักรู้การขับเคลื่อน SDGs ให้กับจังหวัด

อนึ่ง เวลา 13.00 – 16.00 น. นายณัฐพล อุดมเมฆ นวท.ปก. และนายกฤตยชญ์ เมฆช้าง พนักงานประจำสำนักงาน ได้ประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการ "การเสริมสร้างเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทย" (Strengthening SDG Localization in Thailand) ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเตรียมการในการจัดพิธีเปิดตัวโครงการ "การเสริมสร้างเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทย" (Strengthening SDG Localization in Thailand) ในวันที่ 28 เมษายน 2566 ดังนี้

   1) ตรวจสอบสถานที่การจัดพิธีเปิดตัวโครงการฯ ณ ห้อง CR-3 พื้นที่จัดอาหารว่าง พื้นที่จัดอาหารกลางวัน พื้นที่ลงทะเบียนและพื้นที่จัดนิทรรศการ
   2) ซักซ้อมลำดับพิธีการ และการมอบหมายภารกิจในประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ ได้นัดหมายวัน เวลา ในการเตรียมการและตรวจสอบสถานที่อีกครั้ง ในวันที่ 27 เม.ย. 2566 เวลา 13.00 น. โดยในส่วนของคณะทำงาน ตท.สป. ขอให้หัวหน้าคณะทำงานในแต่ละฝ่าย ตามที่ได้มอบหมายภารกิจ ร่วมตรวจสอบพื้นที่และเตรียมการสำหรับพิธีเปิดตัวโครงการฯ

18011665425374.jpg

18011665392599.jpg

18011665465538.jpg

18011665538672.jpg

18011665623883.jpg