S__138428498.jpg

วันนี้ (18 ก.ค. 66 เวลา 09.30-12.00 น.) นายวิภูวรรธน์ กิติวุฒิศักย์ นวท.ชก. ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำข้อสงวนเเละคำเเถลงตีความต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ณ ห้องประชุม 5-01 ชั้น 5 ยธ. โดยมีนายเกิดโชค เกษมวงษ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ เป็นประธานการประชุม

โดยที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ประเทศไทยลงนามรับรองอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 และต่อมาได้เสนอเรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อมีกฎหมายภายในรองรับครบถ้วนแล้ว

ปัจจุบัน ภาคส่วนต่าง ๆ ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ เพื่ออนุวัติการตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ พร้อมทั้งได้เสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับ จนกระทั่งพระราชบัญญัติฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ซึ่งพระราชบัญญัติฯ ได้ครอบคลุมสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งการกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกัน ปราบปราม เยียวยา มาตรการดำเนินคดี ตลอดจนกลไกกำกับดูแลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ เรียบร้อยแล้ว อนึ่ง ปค. ก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในหมวด 3 การป้องกันการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย เเละหมวด 4 การดำเนินคดี

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำข้อสงวนต่อข้อบทที่ 42 (การนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) เเต่ยังไม่มีความจำเป็นในการจัดทำข้อสงวนต่อข้อบทที่ 31 (อำนาจคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ในการรับและพิจารณาคำร้องเรียนจากปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐภาคี) เเละข้อบทที่ 32 (อำนาจคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ในการรับและพิจารณาคำร้องเรียนจากรัฐภาคีหนึ่งที่กล่าวอ้างอีกรัฐภาคีหนึ่งว่าไม่ได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ) ซึ่งผู้เเทนกรมสนธิสัญญาเเละกฎหมาย กต. ชีเเจงว่า ในทางเทคนิค เเม้ประเทศไทยจะไม่ประกาศการตั้งข้อสงวนข้อที่ 31 เเละ 32 เเต่ก็ยังมีผลเท่ากับยกเว้นการผูกพันข้อบทของอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

S__138428500.jpg