S__16433513_0.jpg

วันที่ 15 กุมภาพันธ์  2567 ผอ.ตท.สป. ได้มอบหมายให้นางสาวภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา นวท.ชก.กตท.ตท.สป. เข้าร่วมการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “2024 ปีแห่งการเลือกตั้งโลก: อนาคต บทบาทและสถานะไทยในเวทีโลก” ณ ห้องจัดประชุมสัมมนา บี 1-1 อาคารรัฐสภา โดยการสัมมนาดังกล่าว มีพิธีการเปิดการสัมมนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศปัจจุบัน โดย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง การอภิปรายในหัวข้อ “2024 ปีแห่งการเลือกตั้งโลก: การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายดังนี้ (1) รองศาสตรจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ (2) รองศาสตราจารย์ สีดา สอนศรี (3) นายนิกร ซัจเดว กรรมการหอการค้าอินเดีย – ไทย และ (4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ การสัมมนาดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ในปี 2024 จะมีการเลือกตั้งใน ๖๕ ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งผลการเลือกตั้งดังกล่าว จะส่งผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีนโยบายต่างประเทศในการรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการแข่งขันของมหาอำนาจจะเพิ่มสูงขึ้น และโลกจะมีการแบ่งขั้ว นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยจึงควรมีรูปแบบดังนี้
- เป็นมิตร เป็นกลาง ยืดหยุ่น บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
- รักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา
- ให้ความสำคัญกับการแสดงท่าทีร่วมกับประเทศในภูมิภาคและอนุภูมิภาค และกลไก/กรอบความร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน
- ใช้การทูตเชิงสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาโดยสันติวิธี
2. การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในห้วงปลายปี 2024 หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดี จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศยูเครนมีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สหรัฐอเมริกาจะมีนโยบาย Isolate สหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สหภาพยุโรปจะต้องรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่นมาก รักษา Strategic Autonomy สำหรับมิติเศรษฐกิจ จะมีนโยบายในการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น อาทิ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะ ภาษีนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 นอกจากนี้ นโยบาย American First จะถูกใช้เป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
3. การเลือกตั้งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งนายปราโบโว ซูเบียนโต ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ประเทศไทย ควรใช้นโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์รอบด้านในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ควรมุ่งเน้น cultural diplomacy ใช้จุดร่วมทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ด้านมิติทางเศรษฐกิจสามารถส่งเสริมความร่วมมือภาค SMEs และใช้ประโยชน์จากกรอบ FTA อาเซียน ที่มีอยู่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย
3. สำหรับสาธารณรัฐอินเดีย มีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 16 เมษายน 2567 โดยมีประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 960 ล้านคน คาดว่าจะใช้เวลาในการเลือกตั้ง จำนวน 1 เดือน โดยแบ่งการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ออกเป็น 5-7 ช่วง และมีการคาดการณ์ว่า นายนเรนทรา โมดี จะยังคงได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย แนวนโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศไทยกับสาธารณรัฐอินเดียจึงเป็นนโยบายการทูตเชิงสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเช่นเดิม

S__16433516_0.jpgS__16433515_0.jpg