240432.jpg

ตามที่นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผอ.กอซ. และ น.ส.นญา พราหมหันต์ นวท.ชก. น.ส.สาวิณี อินทร์ประสิทธิ์ นวค.ชก. พช. ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการพัฒนาสังคมและการลดความยากจน ครั้งที่ 17 ณ เมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24 - 30 มิ.ย. 2566 จัดโดยศูนย์ลดความยากจนนานาชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีน (International Poverty Reduction Center in China: IPRCC)
ทั้งนี้ คณะผู้เดินทางขอรายงานข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนของการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ดังนี้ค่ะ

1. วันที่ 28 มิ.ย. 66 ทีมงาน IPRCC ได้พาคณะผู้เข้าร่วมประชุมฯ เดินทางไปศึกษาดูงานที่ พิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของราชวงศ์ฮั่น (The Han Dynasty Culture Museum) ที่เมืองเหอผู่ ภายในสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันลึกซึ้งของเหอผู่ในฐานะท่าเรือเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเลในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยชื่อเมือง "เหอผู่" (Hepu) แปลว่า "สถานที่ที่แม่น้ำไหลมาบรรจบกันในทะเล" เป็นหนึ่งในท่าเรือเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเล และเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมจีนกับศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
》หลังจากนั้นเดินทางไปดูงาน ณ “เมืองขนมอบ” (The Baking town) ในนิคมอุตสาหกรรมเหอปู่ ที่ก่อสร้างขึ้นในปี 2017 โดยยกระดับวัฒนธรรมการทำขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งเป็นขนมพื้นเมือง ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจแบบครบวงจร หนึ่งในโมเดล การแก้ไขความยากจนที่ประสบความสำเร็จของกว่างสี ที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
》เดินทางไปดูกิจการของบริษัท เป่าหลงฟู้ด ในนิคมอุตสาหกรรมเหอปู่ ซึ่งโดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักในการเลี้ยงเป็ดแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การคัดเลือก ผสม และขยายพันธ์ุเป็ด เพื่อสามารถผลิตไข่เป็ดคุณภาพสูงถึงวันละ 1 ล้านฟอง นอกจากนั้นบริษัทยังใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าจาก 500 กว่าเมืองทั่วประเทศจีน ซึ่งแผนงานในอนาคตของบริษัท คือ จะใช้ระบบ Big Data ในการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ และนำระบบดิจิตอลมาใช้ในการผสมพันธ์เป็ดเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า
》ต่อไปเดินทางดูงานพื้นที่ต้นแบบการผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์ Fengyi Laying Hens Industry พื้นที่สาธิตอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์แบบทันสมัย บริษัทมีสายการผลิตไข่ที่ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตลูกเจี๊ยบ จนเป็นแม่ไก่ การผลิตอาหารไก่ กระบวนการคัดและบรรจุไข่ การทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น ทำไข่เหลว และการนำมูลไก่มาทำปุ๋ย ทั้งนี้ หลักการทำงานของบริษัทเป็นไปตามโมเดล “สามประสาน” คือ สร้างความร่วมมือระหว่าง วิสาหกิจ (บริษัทแม่ Phoenix Food Group) รัฐบาลเกษตรกร และรัฐบาลท้องถิ่น โดยท้องถิ่นจะช่วยสนับสนุนเงินจากกองทุนขจัดความยากจน
》หลังจากนั้น คณะผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดได้เดินทางไปเยี่ยมชม Pingxin Bayi Village หมู่บ้านที่เคยยากจนมากเป็นพิเศษมาก่อน อาชีพของพวกเขาคือการเพาะปลูกและการปลูกพืชผลไม้หลายชนิด หลังจากมีการปรับปรุงการเกษตรด้วยการสร้างกรีนเฮ้าส์เพื่อใช้ในการปลูกผักแล้ว เกษตรกรแต่ละคนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ10 เท่าจากเดิม ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรมีบ้านเป็นของตนเองทุกครอบครัว ทั้งนี้ รัฐบาลมีการอุดหนุนค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบให้เปล่าแก่ชาวบ้านเพื่อเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลดูแลประชาชน โดยให้ประมาณ 1 ใน 4 ของราคาบ้านทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนต่อไป

2. วันที่ 29 มิ.ย. 2566 คณะผู้แทนของอาเซียนเยี่ยมชม Chixi Village เดิมทีเป็นหมู่บ้านที่มีความแห้งแล้งอย่างรุนแรง จากนั้นมีผู้นำชุมชนตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้เกิดน้ำใสและภูเขาอุดมสมบูรณ์ โดยในปี ค.ศ.2019 ชุมชนเริ่มงานฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างท่อระบายของเสียและการปรับสภาพน้ำเน่าเสีย จัดสร้างที่พักอาศัย ปรับปรุงลานสาธารณะ จัดสวนดอกไม้ทุ่งผลไม้ และฟื้นฟูป่า โครงการถัดมา คือ การจัดระบบนิเวศน์ของชุมชน ด้วยการทำเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม โดยชุมชนได้ใช้ระบบสหกรณ์มาดำเนินธุรกิจด้านเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรให้ทำเกษตรเคมีแบบปลอดภัย เพื่อรักษาคุณภาพดินและคุ้มครองสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน ทั้งนี้ โครงการที่โดดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือ แปลงชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมีจุดขายคือ สวนสาธารณะที่งดงาม จัดเวิร์คชอบการปลูกผักผลไม้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเก็บผักผลไม้ในโรงเรือนได้เอง ซึ่งถือเป็นช่องทางเพิ่มรายๆได้ให้กับๆชาวบ้าน
》สถานที่ดูงานสุดท้ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ณ ป่าชายเลน โกลเด้นเบย์ เป๋ยไห่ (Beihai Golden Bay Mangrove Ecotourist Region) โดยอ่าวมีลักษณะเป็นรูปวงเดือน ซึ่งครอบคลุมป่าชายเลน ~ 3,000 เอเคอร์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก แมลง ปู กุ้ง หอย นับพันประเภท รวมทั้งพืชพรรณไม้ขนาดใหญ่และเล็กที่หายาก และที่นี่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของท้องถิ่น ซึ่งทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีนักท่องเที่ยวที่มาดูป่าชายเลนที่มีเป็นจำนวนมากในวันที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุด มีบันทึกว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 10,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านโดยรอบ

โดยสรุป: การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการลงไปเยี่ยมชมนิคมอุสาหกรรม บริษัท หมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของจีน ผ่านกระบวนการฟื้นฟูชนบทและลดความยากจน ทั้งในส่วนของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รัฐบาลมีการสนับสนุน ประชาชนต้องมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับชุมชนของตนเพื่อที่จะก้าวพ้นความยากจนอย่างยั่งยืนต่อไป

240439.jpg

240438.jpg

240437.jpg

240436.jpg

240435.jpg