332190_0.jpg

ตามที่ นางวาสนา เตชะวิจิตรสาร ผอ.กอซ. นางสาวนญา พราหมหันต์ นวท.ชก.ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ครั้งที่ 2/2567 เรื่อง สันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 28 - 29 มี.ค. 2567 ณ โรงแรมรอยัล ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครนายก ทั้งนี้ การประชุมมีการเข้ากลุ่มสัมมนาประเด็น “ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สรุปประเด็นสำคัญเบื้องต้น ได้ดังนี้

1. การจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management : AHA Centre) เพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมตามแนวชายแดน โดยมุ่งหวังว่าจะนำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพ สอดคล้องต่อฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน

2. การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ ที่เรียกว่า "PESTEL + M Analysis" ซึ่งเป็นการพิจารณาเหตุผลและปัจจัยในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อความท้าทายในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งผลต่อบทบาทของอาเซียนและไทย ประกอบด้วย การวิเคราะห์มิติ Political [P] การเมือง Economic [E] เศรษฐกิจ Social [S] สังคม Technology [T] เทคโนโลยี Environment [E] สิ่งแวดล้อม Legal [L] กฎหมาย และ Military [M] ทหาร

3. ความท้าทายในส่วนของปัจจัยภายในอาเซียน: อาทิ ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์/อัตลักษณ์ของอาเซียน กระแสชาตินิยมของแต่ละประเทศ ขาดอำนาจต่อรอง ขาดความเป็นเอกภาพ ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศในอาเซียน ส่วนความท้าทายในส่วนของปัจจัยภายนอก อาทิ การรักษาดุลยภาพของชาติมหาอำนาจ การครอบงำเศรษฐกิจในอาเซียน/การลงทุนขนาดใหญ่ของชาติมหาอำนาจ การแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนจากชาติมหาอำนาจ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ความมั่นคงทางทะเล การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน ความขัดแย้งเรื่องดินแดนซึ่งล้วนเป็นปัจจัยซึ่งส่งผลต่อการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

4. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเรียนรู้แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ ด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน ตลอดจนเรียนรู้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยภูมิปัญญาในท้องถิ่น นำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและยั่งยืนต่อไป

332193_0.jpg332192_0.jpg332191_0.jpg332194_0.jpg