S__87785486.jpg

วันนี้ (23 มิ.ย. 2566) เวลา 14:30 - 16:00 น. ปมท. ได้มอบหมายให้ ร้อยตรีสรมงคล มงคละสิริ ผอ.ตท.สป. เข้าร่วมกิจกรรมบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษ โดยพระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองพระชนมายุ ๘ รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายพชร สุดประเสริฐ นวท.ปก./หน.สายงานศาสนกิจ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

การบรรยายพิเศษโดยพระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) สามารถสรุปความเป็น 9 ข้อ (เพื่อให้พี่ๆน้องๆ ชาว ตท.สป. นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของทุกท่านได้) ดังนี้

 

1. ท่านพระธรรมพัชรญาณมุนี หรือ พระอาจารย์ชยสาโร ได้เล่าความเป็นมา ว่า ท่านเป็นชาวอังกฤษที่สนใจในพุทธศาสนาตั้งแต่วัยรุ่น ท่านได้ออกเดินทางเพื่อหาความหมายของชีวิตในหลายประเทศ ท่านได้แบกเป้เดินทางไปยัง ‘อินเดีย’ ดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนาที่ชาวตะวันตกนิยมเรียกว่า ‘ศาสนาตะวันออก’ โดยส่วนมากใช้วิธีโบกรถ ใช้เวลาในอินเดีย 1 ปี ใช้เวลาในอิหร่าน 3-4 เดือน ทั้งหมดกว่าจะกลับถึงอังกฤษก็เกือบสองปี ก่อนจะเข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2521 เพื่อเตรียมอุปสมบท

 

2. ท่านมองว่า พุทธศาสนาเป็น Education System (ระบบการศึกษา) ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่เคยมีในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นระบบองค์รวมที่พัฒนาในทุกๆ ด้านของชีวิตพร้อมกัน ไม่ว่าเรื่องจริยธรรม ความประพฤติ การอยู่ร่วมกันในสังคม เรื่องจิต เรื่องกุศลธรรม-อกุศลธรรม หรือในเรื่องปัญญา

 

3. ท่านได้กล่าวว่า คุณธรรมหลักคุณธรรมใหญ่ของพุทธศาสนาไม่ใช่ศรัทธาแต่คือปัญญา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีไว้เพื่อเชื่อ แต่มีไว้เพื่อใช้ คำสอนพระพุทธองค์ เปรียบเทียบเหมือนเครื่องมือที่เราควรจะหรือต้องใช้ในการศึกษา ในการพัฒนาตน ศรัทธาก็มีบทบาทสำคัญ แต่ศรัทธาต้องมีปัญญาคอยกำกับอยู่เสมอ ศรัทธาขาดปัญญาก็่ล่อแหลมต่ออันตรายสองอย่าง หนึ่งคือความงมงาย สองคือความบ้าคลั่ง การตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อยู่ที่การกระทำ เราถือว่าการกระทำเป็นใหญ่

 

4. ท่านได้ย้ำเตือนว่า พุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ไหน พุทธศาสนาไม่ได้อยู่ทีวัดวาอาราม พุทธศาสนาไม่ได้อยู่ในตู้พระไตรปิฏก พุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ศรัทธาของสงฆ์อย่างเดียว พุทธศาสนาอยู่กาย อยู่ที่วาจา อยู่ที่ใจ ของชาวพุทธทุกคน เราทุกคนมีส่วนมีสิทธิ์ในการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาร่วมกัน

 

5. ท่านได้กล่าวถึงการนั่งสมาธิว่า คือการฝึกจิต โดยเป็นสิ่งที่ชาวพุทธถือว่าต้องทำตลอดเวลา ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องมีการฝึก ต้องมีการดูแล กาย วาจา ใจ เพราะเผลอเมื่อไรกิเลสและทุกข์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่การแบ่งเวลาในแต่ละวัน ให้เจริญสติในอิริยาบถนั่ง หรืออิริยาบถเดินนั้น ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะในระหว่างการนั่งสมาธิหรือการเดินจงกรม เราพยายาม ทำให้สิ่งแวดล้อมเรียบง่ายที่สุด มีสิ่งมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อยที่สุด

 

6. ท่านได้ตั้งคำถามถึงนิยามของคำว่า “ความฉลาด” อะไรคือความฉลาด เวลาบอกว่า คนนี้ฉลาด คนนั้นไม่ฉลาด ความฉลาดแปลว่าอะไร คนฉลาดที่หลายคนเข้าใจ คือเก่งในทุกเรื่องอธิบายได้ทุกอย่าง มีเหตุ มีผล แต่แก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองและสังคมไม่ได้ นั่นใช่ความฉลาดหรือไม่ เมื่อความฉลาด เป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้ตลอดเวลา และต้องปกป้องภาพพจน์ตัวเองว่าเป็นคนฉลาด แล้วฉลาดจริง เป็นอย่างไร “ฉลาดจริง ต้องไม่ทุกข์”

 

7. ท่านได้กล่าวว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คือสัจธรรมข้อหนึ่งที่เป็นจริงเสมอ ยิ่งในโลกศตวรรษที่ 21 ที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและพลิกผัน โดยเน้นย้ำว่าเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะนำหลักพุทธธรรมมาปรับใช้กับระบบการศึกษา เพราะพุทธธรรมทำให้จิตใจสุขง่ายทุกข์ยาก ทั้งยังเป็นหลักคิดในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

8. ท่านได้เน้นย้ำว่า วิถีพุทธต้องพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะศีล ที่แยกออกเป็นสองส่วน คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกวัตถุ เริ่มจากวัตถุที่ใกล้ชิดที่สุดคือร่างกายของเราเอง ซึ่งเป็นการศึกษาดูแลร่างกายตั้งแต่โภชนาการ การออกกำลังกาย กีฬา ต่อมาคือโลกวัตถุรอบตัวที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่และเทคโนโลยี และสุดท้ายคือธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม ต่อจากโลกวัตถุ คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

 

9. ท่านได้สอนถึงการเป็นครูธรรมที่ดี โดยไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว ต้องเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดีผู้รับการสอน ต้องถือศีลห้า และมีการปฏิบัติธรรมประจำปี เป็นผู้ที่สามารถอธิบายโดยมาจากความเข้าใจโดยแท้

S__87785485.jpg

S__87785487.jpg

S__87785488.jpg

S__87785483.jpg